เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เริ่มในปี พ.ศ. 2538 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในท้องที่ชนบทห่างไกล และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยการถ่ายทอดสดจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรายการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6 ช่องสัญญาณ เป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 5 ธันวาคม 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โดยพระองค์ได้พระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ให้เป็นตราของมูลนิธิ ฯ เป็นการพระราชทานการศึกษาไปสู่ปวงชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และได้มีการก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้นในปี พ.ศ. 2539 และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ได้ออกอากาศการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยมีนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นท่านแรก
มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้สนองแนวพระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนและวิชาชีพผ่านทางโทรทัศน์ 15 ช่องสัญญาณ ตลอด 24 ชั่วโมง จากสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น และครูสอนไม่ตรงวิชาเอก โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลที่มีเป็นจำนวนมาก ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งเพื่อการศึกษาของประชาชนทั่วไป ตลอดจนการพัฒนาครูต้นทางและปลายทางทั่วประเทศให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานสอนได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ การดำเนินงานดังกล่าวทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
มาถึงในปัจจุบัน ด้วยพระอัจริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาคือการสร้างความมั่นคงของชาติและด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสานและพัฒนาต่อยอดงานของพระราชบิดาในทุกด้าน
ซึ่งหนึ่งในโครงการพระราชดำริของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 9 ที่มีความสำคัญ คือ การจัดการศึกษาทางไกลภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบันสำนักงานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่เลขที่ 214 ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 โทรศัพท์ 0 2282 6734 โทรสาร 0 2282 6735 สายด่วน 1399 E-mail : info@dltv.ac.th และสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดออกอากาศการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล ตั้งอยู่ที่โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110 โทรศัพท์ 032 515 457-8 โทรสาร 032 515 951 เว็บไซต์ www.dltv.ac.th และ E-mail : dltv@dltv.ac.th, web@dltv.ac.th
NEW DLTV
คณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดใหม่ โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร ได้น้อมนำพระราโชบายมาปฏิบัติ และประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องรองรับกับสถานการณ์ของโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีการปรับปรุงการดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ฯ ใหม่ เป็น New DLTV มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันหลายอย่าง ทั้งด้าน Hardware Software และ Peopleware การดำเนินงาน New DLTV ในส่วนของต้นทาง มีสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและโรงเรียนวังไกลกังวล เป็นหน่วยงานหลัก ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดการเรียนการสอน และผลิตรายการ โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้
1. การปรับผังรายการใหม่ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู และประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เป็นการจัดการศึกษาทางไกล ที่ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันสอดคล้องกับสภาวะการณ์การศึกษาของโลกในยุคปัจจุบัน โดยการออกอากาศ 15 ช่องสัญญาณ โดยปรับผังรายการเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ เวลา 08.30 – 14.30 น. เป็นการถ่ายทอดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีการศึกษา 2561 นี้มีการถ่ายทอดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล 1 ถึง อนุบาล 3 (ช่อง DLTV 10 – 12) และ ป.1 ถึง ม.3 (ช่อง DLTV 1 – 9) ส่วนการจัดการเรียนการสอนระดับ ม.ปลาย (ม.4 – ม.6) ในปีการศึกษา 2561 นี้ จะนำเทปการเรียนการสอนวิชาที่เป็นที่ต้องการของผู้เรียนมาออกอากาศในช่วงบ่ายในช่อง DLTV 10 – 12 นอกจากนี้ ยังออกอากาศรายการระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และรายการพัฒนาวิชาชีพครู ช่วงที่ 2
คือ เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป จะเป็นรายการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ตลอดจนรายการแนะนำการประกอบอาชีพสำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป รวม ๑๕ ช่อง ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
โดยทั้งสองช่วงเวลามีรายละเอียดดังนี้
ช่อง DLTV 1 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 / สถาบันพระมหากษัตริย์
ช่อง DLTV 2 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 / ความรู้รอบตัว
ช่อง DLTV 3 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 / วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ช่อง DLTV 4 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 / ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ช่อง DLTV 5 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 / ศิลปวัฒนธรรมไทย
ช่อง DLTV 6 รายการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 / หน้าที่พลเมือง
ช่อง DLTV 7 รายการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 / ภาษาอังกฤษ
ช่อง DLTV 8 รายการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 / ภาษาต่างประเทศ
ช่อง DLTV 9 รายการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 / การเกษตร
ช่อง DLTV 10 รายการสอนชั้นอนุบาลปีที่ 1 / รายการสําหรับเด็ก-การเลี้ยงดูลูก
ช่อง DLTV 11 รายการสอนชั้นอนุบาลปีที่ 2 / สุขภาพ
ช่อง DLTV 12 รายการสอนชั้นอนุบาลปีที่ 3 / ผู้สูงวัย
ช่อง DLTV 13 รายการของการอาชีพวังไกลกังวล และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
ช่อง DLTV 14 รายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ช่อง DLTV 15 รายการพัฒนาวิชาชีพครู
2. การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้และแนวจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป ครูต้นทางจากห้องเรียนต้นทางที่โรงเรียนวังไกลกังวลจัดการเรียนการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ใหม่ ดังนี้
2.1 ระดับปฐมวัย (อ.1 – อ.3) จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เพื่อพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยได้รับความร่วมมือจาก สพฐ. ในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ และสื่อ เพื่อให้ครูปลายทางจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ
2.2 ระดับประถมศึกษา มูลนิธิ ฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้นำสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยได้รับความร่วมมือจาก สพฐ. และ สสวท. ในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับ ป.1 – ป.6 โดยมีรายละเอียดของแผนการจัดการเรียนรู้รายชั่วโมง พร้อมสื่อสำหรับครูและนักเรียนที่มีความพร้อมในการนำไปให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ และเรียนรู้ครบถ้วนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และกลุ่มบูรณาการ
2.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับความร่วมมือจาก สพฐ. ในการปรับโครงสร้างการจัดหน่วยการเรียนรู้และแผนจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 รวมทั้งเพิ่มวิชาสาระเพิ่มเติมที่เน้นความรู้และทักษะวิชาชีพ โดยโรงเรียนวังไกลกังวล ในปีการศึกษา 2561 เป็นการทดลองใช้แผนฯ และจะเริ่มนำมาใช้จัดการเรียนการสอนออกอากาศในปีการศึกษา 2562
3. การเปลี่ยนระบบการออกอากาศจากการออกอากาศสดเป็นแบบบันทึกเทป โดยมีการวางแผนการถ่ายทำรายการ การทำ Story Board การทำความเข้าใจร่วมกันของทีมช่างกล้องกับครูผู้สอนต้นทาง ให้ได้ภาพกิจกรรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและน่าสนใจ มีสื่อที่ทันสมัยซึ่งครูต้นทางและฝ่ายสื่อการสอน ช่วยจัดหาและแนะนำการทำและใช้สื่อการสอนให้กับครูในห้องเรียนต้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้การถ่ายทอดออกอากาศไปยังห้องเรียนปลายทางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และครูปลายทางสามารถเตรียมการสอนล่วงหน้าได้อย่างน้อย 3 วัน
4. การปรับห้องเรียนต้นทางที่ใช้ในการออกอากาศและอุปกรณ์สถานีโทรทัศน์ให้มีความทันสมัย มูลนิธิ ฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนและอุปกรณ์ประจำห้อง ได้แก่ การนำ Smartboard มาใช้เพื่อให้ครูต้นทางสามารถนำสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายมาประกอบการสอนทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้เพิ่มกล้อง Robot อีกห้องละ 1 ตัว ทำให้ถ่ายทำกิจกรรมและการทำงานของนักเรียนได้ทั่วห้อง โดยไม่รบกวนสมาธิของนักเรียน และเปลี่ยนระบบความคมชัดของการออกอากาศ จากระบบ SD (Standard Definition) มาเป็นระบบ HD (High Definition)
5. เพิ่มช่องทางการเข้าถึง DLTV โดยพัฒนาเว็บไซต์ (website) และแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา (Application on mobile) เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทุกกลุ่มอายุสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้กว้างขวางและง่ายดายขึ้น มูลนิธิ ฯ ได้เพิ่มช่องทางให้สามารถรับชมการเรียนการเรียนการสอน ผ่านเว็บไซต์ www.dltv.ac.th ซึ่งถ่ายทอดการจัดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวลทุกชั้นเรียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต (Internet) โดยเลือกเข้าชมได้ 3 ทางเลือก คือ (1) การถ่ายทอดสด (Live Broadcast) เช่นเดียวกับที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในช่วงเปิดภาคการศึกษา (2) เลือกชมรายการย้อนหลัง (On Demand) ได้ตามอัธยาศัย และ (3) เลือกชมรายการการเรียนการสอนล่วงหน้า เพื่อครูปลายทางจะได้ประโยชน์ในการเตรียมการสอนนักเรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถดาวน์โหลดเอกสาร แผนการเรียนรู้ สื่อ ใบงาน ใบความรู้ ประกอบบทเรียนผ่านทางเว็บไซต์ใน “คลังสื่อการเรียนรู้” ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังให้บริการทางมือถือผ่าน Application on Mobile สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงรายการความรู้ทางวิชาการและความรู้ทั่วไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ในสายพระเนตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาโดยตลอด เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สนใจสามารถเข้าถึงการศึกษาตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการพระราชทานการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้มูลนิธิ ฯ ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการส่งเสริมให้นักเรียนรักความเป็นไทย กิริยามารยาท จริยธรรม คุณธรรม มิใช่การเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว นักเรียนควรรู้จักช่วยเหลือตนเอง มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเน้นให้นักเรียนรู้ทันเทคโนโลยีและเรียนรู้ความเป็นไทยควบคู่ไปด้วย ก็จะสามารถเติบโตเป็นคนไทยที่สมบูรณ์แบบ ช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ สอดคล้องกับที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชดำรัสว่า “การศึกษา ต้องสร้างคนไทยให้มีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองดีมีวินัย” อันเป็นที่มาของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรูปแบบของ NEW DLTV สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนวังไกลกังวล ประกอบด้วย ห้องบันทึกรายการ 11 ห้อง ห้องส่งสัญญาณ ห้องควบคุมการสัญญาณ ห้องผลิตรายการ โรงเรียนที่ชมรายการถ่ายทอดสด คือโรงเรียนที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม โดยไม่คิดมูลค่า แบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการโรงเรียนเอกชน โรงเรียนปริยัตธรรมรวมทั้งหมดกว่า 30,000 แห่ง และยังรวมไปถึงโรงเรียนในประเทศเพื่อนบ้านที่สัญญาณดาวเทียมไปถึง และสนใจขอรับอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมพระราชทาน เช่น ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม จีน และมาเลเซีย
การออกอากาศการเรียนการสอนถ่ายทำจากห้องเรียนจริง ส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง ที่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) โดยเสด็จพระราชกุศล ระยะทางไกลราว 200 กิโลเมตร จากอำเภอหัวหิน มาถึงสถานีดาวเทียมไทยคม ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี แล้วยิงสัญญาณผ่านทางดาวเทียมระบบ KU-Band
มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวลในรูปแบบการถ่ายทอดสด 1 ช่อง 1 ชั้น มีทั้งหมด 15 ช่องสัญญาณ ด้วยระบบดิจิตอลเริ่มจาก 186 - 200 ดังนี้
ช่อง 186-191 ถ่ายทอดการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6
ช่อง 192-194 ถ่ายทอดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ช่อง 195-197 ถ่ายทอดการเรียนการสอนปฐมวัย อนุบาล 1-3
ช่อง 198 ถ่ายทอดการเรียนการสอนของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ระดับ ปวช.และปวส. รวมทั้งการศึกษาสายวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น และการศึกษาชุมชน
ช่อง 199 ถ่ายทอดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวลนอกจากนี้ยังมีสถาบันอื่นๆอาทิ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ช่อง 200 ถ่ายทอดการอบรมครูภาษาอังกฤษและครูวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ครู นักศึกษา ตลอดทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป
สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสามารถให้บริการการศึกษาพระราชทานครบวงจร แบบไม่คิดมูลค่าถึง 15 ช่องสัญญาณ ออกอากาศ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2561เป็นต้นไป สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ออกอากาศในระบบความคมชัดสูง(High Definition หรือ HD) ควบคู่ไปกับระบบความคมชัดมาตรฐาน(Standard Definition หรือ SD) การออกอากาศในระบบ HD ควบคู่ไปกับระบบ SD จะดำเนินการไปจนกระทั่งชุดอุปกรณ์ห้องเรียนปลายทาง DLTV ของทุกโรงเรียนทั่วประเทศปรับเป็นระบบ HD ครบทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงจะยุติการออกอากาศในระบบ SD